Board Game Night | Official Site

ยินดีต้อนรับสู่ Board Game Night เพราะใครๆก็เล่นบอร์ดเกม!!

[เกมนอกกระดาน]สถานีต่อไป…ถูกปล้น

สถานีต่อไป...ถูกปล้น

การปล้นรถไฟครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไม่มีม้าเหมือนในหนังและไม่มีการใช้ปืน

เพราะพวกเขาใช้แค่สมอง

และทีมงานคุณภาพ

ยี้ฮ่าาห์…. กู หลับ กู หลับ กู หลับ กู หลับ กู หลับ กู หลับ (ยืมมุก ดีโอมา)

แก๊งโจรเกือบสิบคนควบม้าเต็มกำลัง ชักปืนยิงปุงปัง ๆ ขึ้นฟ้า ส่งเสียงคำรามให้ผู้โดยสารรู้ว่า “มึงถูกปล้นแล้ว”

ก่อนที่โจรจะเร่งฝีเท้าม้าเข้าไปเทียบกับรถไฟที่กำลังวิ่งอยู่บนราง ตัดผ่านทุ่งกว้างอันว่างเปล่า แล้วถีบตัวเองกระโดดขึ้นไปยืนบนขบวนรถ

หัวหน้าแก๊งเปิดประตูห้องโดยสาร ชักปืนโคลท์อันเขื่องออกมา และพูดติดสำเนียงใต้แบบเท็กซัสว่า

“สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

นี่คือการปล้น ส่งของมีค่ามาให้หมด

และอย่าตุกติก”

“ถุยยยยยยยยยย” เสียงกูเองและอีกหลาย ๆ คนในยุคนั้นคงคิดในใจ พร้อมสบถว่า ไอ้เหี้ย พวกโจรทำอย่างงั้นให้ลำบากทำไมวะ…. ในเมื่อถ้ามึงจะปล้นแบบนี้ มึงก็รอขึ้นรถไฟชิว ๆ ที่สถานีรถไฟเหมือนคนอื่นเค้าก็ได้

เรื่องที่จะเล่าต่อจากนี้ เกี่ยวกับการปล้นรถไฟล้วน ๆ และที่เล่าเรื่องนี้ก็ไม่ใช่อะไร เพราะเห็นชาว BGN เล่น Colt Express เกมปล้นรถไฟย้อนยุค ที่ชวนให้หลาย ๆ คนนึกถึงฉากปล้นในหนังคาวบอยที่คุ้นตา ใครที่คิดไม่ออกก็ลองไปเสิร์ชหาหนังดูได้ แต่ถ้าจะให้อินไปด้วยกันก็แนะนำให้ลองไปดูชาว BGN เล่นเกมที่เกี่ยวกับการปล้นนี่ได้ที่ด้านล่าง

ก่อนที่จะไปถึงเรื่องการปล้น มีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเล่า คือเมื่อวานกูไปปล้นรถไฟมา… ถุยยยยย ไม่ใช่… แต่เป็นเรื่องเอาไว้ประดับความรู้เอาไว้ไปเล่าต่อกันได้เท่ ๆ ว่าด้วยเรื่องของชื่อเกม Colt Express นี่แหละ

Colt Express ถ้าจะแปลก็คงต้องแปลว่า รถด่วนสายโคลต์ แต่ทำไมรถต้องด่วนและต้องโคลต์ด้วยวะ อะ… มาว่ากันจากหลังไปหน้าแบบที่ครูภาษาอังกฤษในโรงเรียนไทยชอบสอน (แสรดดดด ในความเป็นจริง มันแปลไปพร้อม ๆ กันนั่นแหละ แค่โครงสร้างประโยคในภาษาอังกฤษให้ความสำคัญกับรายละเอียด ส่วนขยายก่อนแล้วค่อยเป็นคำหลัก บ่น ๆๆๆ)

คำว่า express เนี่ยเราคงคุ้นเคยกับความหมายมันว่า “ด่วน” ซึ่งก็ถูกต้องตามนั้น ซึ่งถ้าในบริบทของรถไฟเนี่ย ก็จะหมายถึงรถสายด่วน หรือขบวนด่วนใช่ไหม แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมมันต้องมีรถด่วนวะ ทำไมทำด่วนได้แล้วไม่ทำให้มันด่วนเท่า ๆ กันไปให้หมด เออ…อันนี้กูก็ไม่แน่ใจ แต่เท่าที่เข้าใจคืออย่างงี้ รถไฟเนี่ยตั้งแต่อดีตมามันถูกใช้เพื่อบรรทุกสองอย่าง คือ ผู้โดยสาร และข้าวของ (สินค้า ทรัพยากร อะไรก็ตามแต่)

รถด่วนขบวนนม (ก็มีนะ) ส่งช้านี่นมบูดนะ

“รถด่วน มันไม่ได้หมายความว่าหัวรถจักรเครื่องแรงกว่าขบวนอื่นอะ”

ทีนี้สิ่งที่เรียกว่า express car หรือตู้รถไฟด่วนเนี่ย ฝรั่งเค้าจะอธิบายว่ามันจะใช้ขนพวกของมีค่า ไอ้พวกสินค้าที่แพง ตั๋วเงิน หรือแม้กระทั่งตัวเงินเองเลยด้วยซ้ำ (ก่อนที่จะมี internet banking นี่เราส่งเงินกันแบบนี้จริง ๆ ครับ สมมติบริษัทนึงจะส่งเงินเดือนไปให้พนักงานในสาขาย่อยก็ต้องส่งเงินเป็นฟ่อน ๆ ยัดใส่ถุง ใส่เซฟกันไปแบบนี้) ด้วยความที่ของมีค่าเหล่านี้มันมีปลายทางที่ชัดเจน คือเงินทองแม่งไม่ค่อยแวะลงกลางทางอะ รถด่วนที่ว่านี่มันก็เลยไม่ค่อยแวะสถานีรายทางต่าง ๆ จึงทำให้มันถึงปลายทางเร็วกว่านั่นเอง (แล้วพอขบวนไหนด่วน ก็ค่อยเอาตู้โดยสารไปพ่วงต่อ ทำให้ผู้โดยสารด่วนไปด้วยได้)

ส่วน Colt นี่หลายคนคงเคยได้ยินและเดาว่าส่วนใหญ่คงรู้จักว่าเป็นชื่อปืน ถูกต้องอีกนั่นแหละครับ Colt นี่เป็นชื่อบริษัทผลิตปืนสัญชาติอเมริกันที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่ง ผลิตปืนมาตั้งแต่รุ่นทวด ใช้กันตั้งแต่ยุคคาวบอย สงครามโลก และจนมาถึงปัจจุบัน และก็มีปืนรุ่นดัง ๆ ที่ได้รับการยอมรับออกมาหลายรุ่น ในหลายยุคสมัยครับ ส่วนคำว่า Colt เอง ถ้าแปลตรง ๆ ตัว ก็ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของปืนยี่ห้อนี้ด้วย เพราะมันแปลว่า “ม้าหนุ่ม” ซึ่งช่วยทำให้นึกถึงภาพความแข็งแรง ปราดเปรียว ว่องไว ได้ไม่น้อยเลย

ปืน Colt Walker ปืนรุ่นแรก ๆ ที่มีชื่อเสียงของ Colt

….

กลับมาสู่เรื่องปล้นรถไฟ… ไอ้การปล้นรถไฟนี่ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ฮิตแล้วในปัจจุบันครับ คงเป็นเพราะเงื่อนไขหลาย ๆ อย่าง ทั้งเทคโนโลยีที่ทำให้รถไฟเร็วขึ้น การขยายตัวของเมือง ความก้าวหน้าของการคมนาคม(ทำให้คนมีทางเลือกในการเดินทางอื่น ๆ และขนส่งของมีค่าด้วยวิธีอื่น) ดังนั้นภาพจำของเราเกี่ยวกับการปล้นรถไฟจึงเป็นภาพแบบในหนังคาวบอยที่บอกไปตอนต้นของบทความ

ฉากการควบม้าตามรถไฟ ที่เราอาจจะคุ้นเคยจากหนัง

“ภาพการปล้นแบบในหนัง

แม่งมีแต่ในหนังนั่นแหละ”

ข้อมูลในประวัติศาสตร์การปล้นรถไฟ บอกให้เรารู้ว่าการปล้นที่ประสบความสำเร็จ แม่งไม่ได้ทำกันอย่างนั้นเลย และการปล้นรถไฟแม่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในอเมริกายุคบุกเบิกตะวันตกที่ต้องมีคาวบอยมายิงกันเปรี้ยงปร้าง แต่การปล้นรถไฟนี่แทบจะเกิดทุกทีที่มีรถไฟนั่นแหละฮะ และการปล้นรถไฟในยุคนั้น (ราวทศวรรษ 1850 – 1960) เป้าหมายหลักของกลุ่มโจรคือของมีค่าหรือเงินที่ถูกขนส่งด้วยรถไฟ ส่วนไอ้การมาปล้นผู้โดยสารนี่มักจะเกิดขึ้นตอนที่ปล้นของแล้ววืด… ได้ของน้อยเกินไป อะไรทำนองนั้น

การปล้นรถไฟฮิตมากในยุคนั้น คงเพราะโอกาสในการประสบความสำเร็จมีสูง และไม่ได้เป็นภัยต่อประชาชนโดยตรง แต่เป็นภัยกับบริษัทห้างร้านต่าง ๆ เสียมากกว่า จนทำให้เกิดอาชีพรักษาความปลอดภัยรับจ้างขึ้นที่เรียกว่า Expressman ซึ่งก็คือคนที่ทำหน้าที่คุ้มครองตู้รถด่วนที่ขนของมีค่านั่นแหละ

ด้วยความฮิตดังกล่าว ทำให้จอมโจรปล้นรถไฟ และแก๊งต่าง ๆ มีชื่อเสียงขึ้นมามากมาย วิธีการปล้นและแผนการต่าง ๆ ก็ถูกพัฒนาขึ้นไปตามลำดับ แต่หนึ่งในการปล้นมากมายนั้น มีหนึ่งครั้งที่ถูกขนานนามว่า The Great Train Robbery และนี่คือเรื่องที่เราว่าแม่งโคตรน่าทึ่งของการปล้นครั้งนั้น

“ไม่มีการยิงปืนสักนัด จะว่าไปไม่มีการใช้ปืนด้วยซ้ำ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหนักเพียงแค่คนเดียว”

The Great Train Robbery เกิดขึ้นในปี 1963 นับเป็นช่วงท้าย ๆ ของยุคทองในการปล้นรถไฟ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในอังกฤษ ไม่มีม้า ไม่มีคาวบอย ไม่มีเสียงปืน มีเพียงแค่เงิน 2.6 ล้านปอนด์ที่หายไปอย่างไร้ร่องรอยจนปัจจุบัน (เพียงพ่อง… เทียบมูลค่าปัจจุบันราว 40 ล้านปอนด์ หรือราว 1,754 ล้านบาท)

บางส่วนของผู้ร่วมการปล้นในเหตุการณ์ The Great Train Robbery

การปล้นครั้งนั้นมีผู้ร่วมขบวนการ 18 คน จากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักกฎหมาย ช่างตัดผม เจ้าของผับ วิศวกร และอื่น ๆ พวกเขาวางแผนอย่างแยบยล โดยการส่งคนขึ้นไปหยุดรถไฟในห้องคนขับ ส่งผลให้คนขับคนนั้นถูกตีจนเจ็บหนัก เมื่อรถไฟหยุดแล้วพวกเขาก็เคลื่อนรถไฟไปยังจุดที่เตรียมไว้ แล้วใช้เวลาไม่นานขนถุงเงินเกือบทั้งหมดลง และหนีไปกบดานอยู่ในบ้านไร่แห่งหนึ่ง และแบ่งเงินกันไปเท่า ๆ กัน

พวกเขาหายไปในกลีบเมฆ บางคนอออกนอกประเทศ บางคนก็ซุ่มงียบใช้ชีวิตโลว์โปรไฟล์ บางคนเห่อหมอยซื้อของโชว์รวย แต่ก็ยังไม่มีอะไรสาวมาถึงตัวพวกเขาได้ แต่ด้วยความที่คดีนี่ใหญ่มาก ตำรวจอังกฤษจึงระดมคนและเวลาทำงานอย่างเต็มที่ จนตามมาเจอบ้านไร่ที่พวกเขาใช้เป็นที่กบดาน และตามสืบจากหลักฐานที่มีจากตรงนั้น จนพอจะรู้เบาะแสและขยายผลไล่ตามจับแก๊งโจรทีละคนสองคน

บางคนจับได้เร็ว บางคนใช้เวลาหลังจากนั้นอีกหลายปีถึงเจอตัว โทษของสมาชิกหลักในแก๊งอยู่ที่จำคุก 30 ปี ความโหดคือบางคนแม่งแหกคุกออกมาได้และหนีออกนอกประเทศด้วย คนที่ติดคุกต่อไปก็อยู่จนครบเวลาของตัวเอง และได้รับอิสระ ออกไปประกอบอาชีพต่าง ๆ ใช้ชีวิตกันบนทางสุจริตบ้างไม่สุจริตบ้าง อ่อ… ลืมบอกไปใน 18 คนนั้น มี 4 คนที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าพวกเขาเป็นใคร

Mini-series จาก BBC เรื่อง The Great Train Robbery ไปหาดูกันได้ เนื้อเรื่องแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเล่าเรื่องผ่านแก๊งปล้น และอีกส่วนเล่าผ่านการสืบสวนของตำรวจ

การปล้นครั้งนั้น สร้างชื่อเสียงให้กับทั้งแก๊งที่ปล้นที่สามารถทำการปล้นที่ยิ่งใหญ่ได้ ในขณะเดียวกันก็สร้างชื่อให้กับกระบวนการยุติธรรมของอังกฤษที่สามารถสืบและจับตัวคนผิดมาดำเนินคดีได้ แม้ว่าในท้ายที่สุดจะไม่สามารถตามเอาเงินคืนมาได้ก็ตาม

หยิบเรื่องปล้น ๆ มาเล่าให้ฟังนี่ก็ไม่ได้จะเชียร์ให้ไปปล้นกันนะครับ แค่อยากจะบอกว่าบางทีเรื่องที่เราคิดว่าเราเข้าใจว่ามันจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ อย่างเรื่องการปล้นรถไฟ ในความเป็นจริงแล้วมันอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น และอีกเรื่องที่เราได้จากการหาข้อมูลเรื่องนี้มาเล่าก็คือ ความรุนแรงมันแทบไม่จำเป็นเลยที่จะทำการใหญ่ให้สำเร็จ เมื่อเทียบกับการวางแผนและเตรียมการที่ดี และมีทีมงานที่มีศักยภาพ… เราก็หวังว่าสมองและความสามารถจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุก ๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนะฮะ

 

มีหนังปล้นรถไฟเรื่องนึงที่เราชอบมากครับ และพูดถึงการปล้นในยุคปัจจุบัน ชื่อ Deidra & Laney Rob a Train หาดูได้ใน Netflix นะครับ ส่วนใครที่อยากลองหาบอร์ดเกมที่ได้แรงบันดาลใจจากการปล้นรถไฟครั้งยิ่งใหญ่นั้นก็ลองหาทางสั่งซื้อเกม The Great Brain Robbery กันได้ ก่อนจากกันผมย้ำอีกที ผมไม่เคยสนับสนุนให้ใครปล้นนะครับ ถึงแม้ผมจะเคยออกปล้นมาแล้วก็ตาม…(อ่านมาถึงตรงนี้ มึงต้องช่วยถามในคอมเมนต์ด้วยนะครับ ว่ากูปล้นอะไร ถึงมึงจะรู้คำตอบอยู่แล้วก็ต้องถามนะครับ และใครมาหัก มาตัดหน้า มีเรื่องนะครับ ฮ่า ๆๆๆ…)

ด้วยรักและเครารก

ธันว์

“เกมนอกกระดาน” โดย ธนชัย วรอาจ (ธันว์)

Author