Board Game Night | Official Site

ยินดีต้อนรับสู่ Board Game Night เพราะใครๆก็เล่นบอร์ดเกม!!

[เกมนอกกระดาน]เรื่องของคู ไม่ใช่แค่เรื่องของกู

เรื่องของคู ไม่ใช่แค่เรื่องของกู

เรื่องของมึง อาจเป็นเรื่องของกู

และบางทีมันคือเรื่องของเรา

โปรยมาว่านี่อาจเป็นเรื่องของเรา แต่อย่าเพิ่งเข้าใจไปว่าจะมาพูดเรื่องความรัก เรื่องโรแมนติกอะไร ผมไม่เล่าอะไรพวกนั้นหรอกฮะ อย่างน้อยก็ในครั้งนี้… เรื่องที่จะเล่าวันนี้ไม่มีพื้นที่ให้ความโรแมนติกเท่าไหร่หรอกฮะ
Coup Rebellion : G54 หลายคนคงได้เห็นหน้าตาและความดุเดือดมั่วตั้วของเกมนี้ไปแล้วจาก BGN ตอนที่ผ่าน โดยตัวเกมก็ถูกพัฒนาต่อมาจากเกม Coup นั่นแหละครับ

เผื่อหลายคนไม่รู้ คำว่า Coup เนี่ย เวลาใช้ในภาษาอังกฤษ โดยทั่วไปแล้วหมายถึง รัฐประหาร ครับ คำเต็ม ๆ ของมันคือ Coup d’Etat (อ่านว่า คู เด ตา) ที่ยืมมาจากฝรั่งเศสครับ ที่เอามาบอกเพราะว่าคำนี้เราคงได้ยิน ได้เห็นกันอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งอยู่ในประเทศนี้ ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาไม่ถึงร้อยปี ก็มีรัฐประหารไปเกือบ 20 ครั้งแล้วนะฮะ

21687730_1829472700696427_4799636773924628259_n

แต่เรื่องที่หยิบมาเล่าให้ฟังในวันนี้ไม่เกี่ยวกับไทยหรอกฮะ แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลอย่างมากต่อการคิดเกม ๆ นี้

ทำไมต้อง G54 วะ ?? คำตอบคือ G54 เป็นเหตุการณ์อ้างอิงของเกม ๆ นี้ครับ Guatemala 1954 หรือ กัวเตมาลา 1954 ซึ่งอันนี้ผมไม่ได้มั่วขึ้นมาเองนะครับ แต่คนออกแบบเกมนี้เค้าเคยให้สัมภาษณ์ไว้เลยว่า เค้าแม่งไปฮันนีมูนกับเมียที่กัวเตมาลา และก็ได้รู้เกี่ยวกับเหตุการณ์รัฐประหารกัวเตมาลาในปีนั้น ที่มันมั่วตั้วมากจนไม่รู้ว่าใครจะได้ขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่กันแน่

ความโหดร้ายของเหตุการณ์นี้

คือแม่งเป็นรัฐประหารที่จะว่ากันจริง ๆ

แม่งไม่ได้เกิดจากคนในประเทศหว่ะ

ในช่วงปี 1954 ที่โลกกำลังวุ่นวายกับสงครามเย็น กัวเตมาลาก็เพิ่งผ่านการปฏิวัติและประชาธิปไตยเบ่งบานมาได้ประมาณ 10 ปีเอง แต่ทีนี้ด้วยความที่มีความเสรีทางการเมืองมากเหล่าผู้นำประเทศก็เปิดโอกาสให้มีพรรคคอมมิวนิสต์เกิดขึ้น

ประธานาธิบดี Eisenhower (คนซ้าย) ผู้ที่อนุมัติแผนลับในการล้มรัฐบาลกัวเตมาลา

ซึ่งแม่งกลายเป็นว่าทำให้เจ้าพ่อฝั่งประชาธิปไตยอย่างอเมริกา มองว่า กัวเตมาลากำลังใฝ่คอมมิวนิสต์ ที่อเมริกามองว่าเป็นตัวร้าย CIA เลยเสนอแผนโค่นล้มรัฐบาลนี้ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็อนุมัติด้วย(พร้อมเงินหลายล้านเหรียญ)

ทำไมแม่งดูง่ายดายจังวะ จะล้มรัฐบาลเนี่ย

ความจริงมันก็ไม่ได้ง่ายดายนักหรอกครับ เหตุผลที่อเมริกามายุ่มย่ามเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องใฝ่หรือไม่ใฝ่คอมมิวนิสต์ แต่มันดันมีธุรกิจยักษ์ใหญ่สัญชาติเมกันในกัวเตมาลา ที่เสียประโยชน์มากมายจากนโยบายของรัฐบาลกัวเตมาลาช่วงนั้นด้วยต่างหาก ก็เลยเสี้ยมกันหนักจนการรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นครับ

CIA สนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้อย่างลับ ๆ ให้กับกองกำลังทหารกัวเตมาลาที่มีจำนวน 400 กว่าคนเองครับ มันดูไม่น่าจะยึดอำนาจรัฐบาลอันเป็นที่รักของประชาชนกัวเตมาลาได้สำเร็จใช่ไหมครับ แต่มันก็เกิดขึ้นได้จากการระดมสมองของเจ้าหน้าที่ CIA นับร้อยชีวิตช่วยกันวางแผน (แม่งโหดจริงครับ)

วิทยุ สื่อที่แพร่หลายมากในยุคนั้น ก่อนจะขยับมาเป็นทีวี และมาเป็นยุค internet ในปัจจุบัน

สุดท้ายการยึดอำนาจครั้งนี้สำเร็จได้ด้วยการรบทางจิตวิทยาครับ ในตอนนั้นคือฝ่ายก่อการรัฐประหารนี่ เปิดสถานีวิทยุที่โจมตีการทำงานของรัฐครับ ในยุคที่ข่าวสารไม่รวดเร็ว คนจำนวนมากก็เริ่มเชื่อ และรายการวิทยุนั้นก็ค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ

พอถึงวันที่เริ่มต้นแผนทางทหารจะยึดอำนาจ ทหารฝ่ายก่อการที่มีจำนวนแค่หยิบมือ ก็กระจายตัวไปทำภารกิจในจุดต่าง ๆ และรุกคืบมาจนถึงเมืองหลวงครับ ซึ่งทุลักทุเลและเสียกำลังไปเยอะมาก แต่พอถึงเมืองแล้ว ฝ่ายก่อการแม่งมีเครื่องบินรบหวะ (แน่นอน อเมริกาสนับสนุนมา) การโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นทันที

ในระลอกแรก ๆ นั้น จริง ๆ แล้วเครื่องบินไม่ได้สร้างความเสียหายเท่าไหร่นัก เพราะเป็นเครื่องบินเล็ก ที่มาทิ้งระเบิดทำมือง่าย ๆ อย่างโมโลตอฟ แต่ส่งผลอย่างมากต่อจิตใจของผู้คนครับ (รัฐประหารในไทยยุคปัจจุบันนี่ยังไม่ใช้เครื่องบินมาข่มเลยนะฮะ)

Lockheed P-38 Lightning เครื่องบินสัญชาติอเมริกันที่ถูกใช้ในรัฐประหารครั้งนั้น

นอกจากวิทยุ และเครื่องบิน การรัฐประหารครั้งนั้นก็มีกลยุทธ์ทางจิตวิทยาอื่น ๆ อีกมากเลยครับ แต่ผมคงไม่ลงรายละเอียด ส่วนผลที่ตามมาหลังยึดอำนาจสำเร็จหรอครับ ผู้นำทหารฝั่งผู้ก่อการก็ขยับขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ และค่อย ๆ นำพากัวเตมาลาเข้าสู่ยุคเผด็จการครับ รวมทั้งส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ตามมาด้วย

หลักฐานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผลงานรัฐบาลเผด็จการครั้งนั้น ค่อย ๆ ถูกเผยออกมาภายหลัง

ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องการแทรกแซงของสหรัฐ ถูกเปิดเผยเมื่อไหร่ แต่การขอโทษอย่างเป็นทางนั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1999 นี้เอง ในขณะที่กัวเตมาลาก็ต้องใช้เวลาอันยากลำบากฟื้นฟูตัวเองมาอย่างยาวนาน และเพิ่งมีการขอโทษต่อความผิดพลาด ที่ทำให้เกิดการสูญเสียต่าง ๆ เมื่อปี 2011 นี้เอง

หยิบเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง ไม่รู้จะเขียนให้สนุกยังไง เพราะตอนอ่านไปก็หดหู่ไป แต่ที่หยิบมาเล่านี่ นอกจากจะอยากเล่าเรื่องที่เป็นต้นกำเนิดของเกม ก็อยากจะชวนให้ลองมองดูว่า บางทีเรื่องของกู(ประเทศของกูอย่างกัวเตมาลา) มันก็ไม่ใช่เรื่องของกูเท่านั้น แต่มันมีมึง มีคนนั้นคนนี้ คอยมองดูอยู่ตลอด และบางทีคนนั้นคนนี้นี่ก็ไม่ได้ดูเปล่า ๆ แต่เค้าพร้อม take action ด้วยฮะ

ในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าเรามั่นหน้า มั่นใจพอว่าเราจะจัดการมันได้ก็คงดีไปครับ แต่ถ้าเราก็ไม่ได้ดีเด่อะไร หรืออยู่ในสถานะที่เป็นรอง ใคร เขาก็ใหญ่กว่าเราหมด การจะทำอะไรซักอย่างคงต้องตัดสินใจดี คุยกันเองเยอะ ครับ ทางนึงก็จะได้สื่อสารกัน แบ่งปันข้อมูลที่มีจะได้ไม่โดนหลอกด้วย (เหมือนวิทยุที่ปั่นชาวกัวเตมาลา)

แหม่ แต่ปัญหาของการคุยเนี่ยมันอยู่ที่การรับฟังด้วยนะครับ ถ้าเจอแต่คนอยากพูด พูด พูด ไม่ฟังใครเลย แถมใครจะอยากพูดบ้าง ก็ไปว่า ไปด่า ไปห้ามไม่ให้เค้าพูดอีก ก็ไม่รู้ว่าจะไปรอดกันได้แค่ไหนนะครับ… อ่อ ที่พูดมาทั้งหมดนี่ เป็นแค่เทคนิคที่เอาไปใช้ในการเล่มเกมนะครับ ไม่ได้พูดถึงประเทศไหน ใด ๆ เลย

เรื่องวันนี้อาจจะหนักเสียหน่อย และไม่รู้จะเล่าให้สนุกมาก ๆ ได้ยังไง แต่ก็หวังว่าคงจะพอได้ประเด็นอะไรกันไปบ้างนะครับ อ่อ… เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อยากจะบอก คือ ผมไม่ชอบข้าวผัด กับโอเลี้ยงนะครับ… ถ้าจะซื้ออะไรมาฝากขอเป็นชาเขียวนม กับกะเพราเนื้อ ไข่ดาว ฮือออ ขอบคุณครับ

ด้วยรักและเครารก

ธันว์

 

Pic credit

https://i.ytimg.com/vi/flBqojLpAnI/maxresdefault.jpg

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/fc/President_Eisenhower_and_John_Foster_Dulles_in_1956.jpg

https://i.ytimg.com/vi/muBu50eZ1mk/maxresdefault.jpg

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/6/62/Lockheed_P-38J_Lightning_-_1.jpg

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/ac/Exhumation_in_San_Juan_Comalapa_Guatemala_03.jpg

“เกมนอกกระดาน” โดย ธนชัย วรอาจ (ธันว์)

Author