
เมื่อใช้ “ความตาย” ได้มากกว่าด่า พ่อมึง... แม่มึง...
เมื่อคนตายสื่อสารกับคนเป็น ความจริงทางวัฒนธรรมกับความไม่จริงทางวิทยาศาสตร์ เราจะเลือกเชื่ออย่างไรดี ?
Mysterium เป็นบอร์ดเกมที่วางอยู่บน theme การสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมที่วางบทบาทให้ผู้เล่นเป็นวิญญาณคนตายที่คอยสื่อสารกับคนเป็นเพื่อไขคดี รายละเอียดและความสนุกของมันเป็นอย่างไรนั้นคงต้องลองไปดูที่ชาว BGN ได้เล่นไว้
BGN Mysterium
เรื่องราวการสื่อสารระหว่างคนตายกับคนเป็น จริง ๆ แล้วแม่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเลย จนกระทั่งความเป็นสมัยใหม่และวิทยาศาสตร์กลายมาเป็นกระแสหลักของสังคมโลกเราไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง ก่อนหน้านี้ทุกสังคมวัฒนธรรมมีการพูดถึงผีและวิญญาณอยู่เสมอ มากไปกว่านั้นคือผีและวิญญาณเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคม ที่ส่งผลถึงการดำเนินชีวิต การทำความเข้าใจเรื่องรอบ ๆ ตัว และรวมถึงการตัดสินใจต่าง ๆ นานาด้วย
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราลองพิจารณาประสบการณ์ของพวกเรากันดูนะครับ และจะเห็นว่าผีเนี่ย เป็นความจริงทางวัฒนธรรมและก็ยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ในวัฒนธรรมเราด้วย
“พ่อมึงตาย แม่มึงตาย”
เมื่อคนในครอบครัวตายเนี่ย ไม่ต้องมองไปไกลถึงไหน มองในวัฒนธรรมไทยเนี่ยแหละ เราจะได้ยินเรื่องราวของความพยายามในการสื่อสารกันระหว่างคนตายและคนเป็นอยู่เนือง ๆ บ้างก็ว่าเข้าฝันมาคุยนู่นนี่ มาบ่นว่าขาดเหลืออะไร หรือมาให้เลขให้โชคก็ว่ากันไป บ้างก็บอกว่ารู้สึกเหมือนคนตายไม่ได้ไปไหน ยังวนเวียน ยังทำอะไรที่คุ้นเคยอยู่ในที่ ๆ คนตายเคยอยู่นั่นแหละ จะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายดูจะมีความตั้งใจสื่อสารกันอยู่

พิธีจับปอบ
หรือถ้ามองย้อนกลับไปในวัฒธรรมท้องถิ่นเสียหน่อย เราก็จะเห็นเรื่องผีที่ส่งผลต่อคนอย่างชัดเจน เช่น เรื่องปอบในภาคอีสานที่ทุกวันนี้ก็ยังพอเห็นได้ตามข่าว ที่มีพิธีจับปอบในหมู่บ้านโน้นนี้ กรณีที่ปอบอยู่นอกร่างคนก็ดีไป แต่ก็มีหลายกรณีที่สุดท้ายมองว่าคนนั้นคนนี้เป็นปอบ ทีนี้แม่งเลยส่งผลต่อคนจริง ๆ ครับ คือคนไหนถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ ก็จะถูกคนในหมู่บ้านแบนไปเลย ไม่มีใครอยากคบค้าด้วย หนักเข้าหน่อยก็ถูกบีบให้ต้องย้ายออกจากหมู่บ้านเลยก็มี
“คนที่ต้องออกจากหมู่บ้านเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบมีเยอะ จนมีหมู่บ้านที่ตั้งใหม่จากคนที่ถูกกล่าวหาเลยทีเดียว”
เรื่องคนตายสื่อสารกับคนเป็นนี่ก็มีอีกมากครับที่อยู่ด้วยกันได้ โดยไม่ต้องไล่ฝ่ายใด ๆ ฝ่ายหนึ่งออกไป เช่น คนทรง หรือหมอผี ซึ่งเป็นคนที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางของการสื่อสาร และประนีประนอมความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นและคนตาย ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน วิน-วินกันไป ถ้านึกไม่ออกลองนึกถึง ริว จิตสัมผัส ก็ได้ครับ
คนเป็นกับคนตายมันก็อยู่ร่วมกันมาแบบนี้เป็นพัน ๆ หมื่น ๆ ปีครับ จนกระทั่งวิทยาศาสตร์สถาปนาขึ้นมา พร้อมความต้องการในพิสูจน์ทุกอย่าง ซึ่งผีเนี่ยแม่งพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้สักที พอมาพร้อมเรื่องที่มันส่งผลต่อสังคม มีผลต่อการตัดสินใจของคน อ๊าวไอ้ห่า มึงตัดสินใจทำอะไรส่งผลต่อคนจริง ๆ แต่แม่งพิสูจน์ไม่ได้ จับต้องไม่ได้ว่าทำไมมึงถึงตัดสินใจแบบนั้น ก็เป็นปัญหาเลยครับ เรื่องผี ๆ จึงถูกผลักออกไปให้เป็นเรื่องงมงาย และกลายเป็น fiction ในหลายกรณี เช่น เรื่องปอบ ก็กลายเป็นหนังบ้านผีปอบไป ที่แม่งคนละเรื่องคนละราวกับที่คนที่อยู่ในวัฒนธรรมที่มีปอบอธิบายเลยฮะ

หนังเรื่องบ้านผีปอบ ต้นกำเนิดปอบหยิบ ที่ไม่ได้เหมือนปอบที่คนอีสานอธิบายกันสักนิด
ถึงแม้วิทยาศาสตร์จะพิสูจน์ผีว่ามีจริงไม่ได้สักที แม้จะมีความพยายามหลายครั้ง และมีคำอธิบายทางทฤษฏีที่น่าเชื่อมากมาย แต่เรื่องผีต่าง ๆ ในโลกก็ยังดำเนินไปครับ และบางกรณีก็มีบทบาทสำคัญด้วย
“จะดีแค่ไหน ถ้ามึงตายแล้วมึงกลับ
มาบอกได้ว่าใครฆ่ามึง”
เรื่องการสืบสวนคดีฆาตกรรมนี่เป็นเรื่องฮิตในโลกสมัยใหม่ครับ การสืบสวนถูกพัฒนามาเพื่อพิสูจน์ตรวจสอบหาคนร้ายมารับผิดชอบต่อการสูญเสีย แม่งดูโคตรจะเป็นวิทยาศาสตร์เลยใช่ไหมครับ แต่ก็มีหลายคดีที่พนักงานสอบสวนก็มืดแปดด้านไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน แล้วก็ได้คนตายนี่แหละครับเข้ามาช่วยไขคดี
เรื่องราวผี ๆ กับการไขคดีนี่เราคงได้ยินกันมาบ้าง แต่ถ้าจะพูดถึงเรื่องที่ดังมากที่สุดในยุคนี้คงต้องยกให้เรื่องของ อลิสัน ดูบัวส์ (Allison DuBois) เธอคือผู้หญิงอเมริกันคนนึงที่เป็น medium (ภาษาไทยอาจแปลว่าคนทรง แต่ไม่ใช่คนทรงแบบที่วิญญาณมายืมร่างใช้แบบที่เราคุ้นเคยนะครับ) แต่เธอได้รับการสื่อสารจากคนที่ตายไปแล้วได้ครับ ซึ่งไม่ใช่การสื่อสารธรรมดาแบบทักทาย เฮลโหล ฮาวอายู นะฮะ แต่เป็นการสื่อสารที่เป็นเบาะแสคดีฆาตกรรม

ซีรีส์เรื่อง Medium ไปหาดูกันเพลิน ๆ ได้
เรื่องของดูบัวส์นี่โด่งดังมากฮะ เพราะเธอถูกยืมความสามารถเพื่อช่วยเหลือตำรวจไขคดีอยู่หลายครั้ง จนเธอเขียนหนังสือออกมาเป็นเล่ม ๆ ได้เลยทีเดียว มากไปกว่านั้นคือ เรื่องของเธอถูกทำเป็นซีรีส์ที่อาจเคยผ่านตาหลาย ๆ คน นั่นคือเรื่อง “Medium”
เรื่องความก้ำกึ่งของโลกวิทยาศาสตร์ที่ยังได้ประโยชน์จากเรื่องผี ๆ นอกจากการสืบคดีแล้ว ก็ยังมีเรื่องด้านโบราณคดีที่ได้ประโยชน์จากผีไม่แพ้กัน ถึงแม้ว่าโบราณคดีจะเป็นงานทางด้านวิทยาศาสตร์แค่ไหน แต่จากการพูดคุยกับเพื่อนนักโบราณคดีก็ทำให้ได้รู้ว่า เรื่องเล่าที่มีผีชี้เบาะแสว่าแหล่งโบราณคดี วัตถุโบราณ โบราณสถานซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง ก็มีบ่อยเสียเหลือเกิน ที่สำคัญนี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแค่ในไทยด้วยนะมึง คือแม่งก็เกิดเรื่องทำนองเดียวกันนี้ทั่วโลก อารมณ์ว่าผีคนเก่าคนแก่ มาช่วยบอกใบ้ชาวบ้าน แล้วชาวบ้านก็มาบอกนักโบราณคดีอีกทีนึง
